วันพุธที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

บุญผะเหวด แห่ผีตาโขน ๒๕๕๗

เที่ยงวันผีตาโขนก็ต้องมีพักผ่อนกันบ้าง
ถอดหัวผีออกพักกันอยู่ข้างโบสถ์
ออกมาจากเชียงคานละ ทิ้งเรื่องราวค้างคาใจไว้ที่ริมแม่โขง เช้าวันต่อมาก็ออกเดินทางเพื่อมุ่งหน้าสู่อ.ด่านซ้าย เป้าหมายของการเดินทางครั้งนี้ ขับรถออกจากที่พักแถวถ้ำผาปู่ ขับรถขึ้นภูเรือบนทางหลวงหลายเลข 203 ช่วงเริ่มต้นของการเดินทาง เห็นเป้าหมายเป็นสัปปะรดข้างทาง ที่ชาวบ้านเอามาขาย เห็นกำลังขนลงจากรถอีแต๋นเล็ก ๆ เลยแวะซื้อและสอบถามด้วยความอยากรู้ว่าพันธุ์อะไร "อ๋อ ก็พันธุ์บ้านเรานี่แหละจ้า" ได้คำตอบเลยว่ากำลังชิม สัปปะรดพันธุ์บ้านเราอยู่นะ ขับรถตามเส้นทางบนภูเรือด้วยความสบายตา สบายใจ
แตกต่างกับความหดหู่ที่พบเห็นจากช่วงภูหลวง ภูหอ ถนนยังดี ป่าข้างทางยังเขียวขจี ทิวทัศน์ข้างทางแบบนี้แหละ ที่เหมาะกับการเดินทางเพื่อการพักผ่อนจริง ๆ ขับเรื่อย ๆ สบาย ๆ ระหว่างทางเห็นรีสอร์ท กับร้านกาแฟริมทาง เรื่อย ๆ ไม่ต้องกลัวเหงา หรืออยากเติมคาเฟอีนก็ลองเลือกดูเอาซักร้านนึง ใช้ชีวิตเดินทางท่องเที่ยว อย่าคาดหวังอะไรมาก อย่าเชื่อคู่มือท่องเที่ยวไปซะหมด ถ้าเชื่อหมด จะเหลืออะไรไว้ให้ค้นหา ให้จินตนาการ กันเล่าพ่อนักเดินทางทั้งหลาย


ใช้เวลาซักชั่วโมงครึ่งก็เข้าสู่อ.ด่านซ้ายเกือบ เวลาเกือบ 10.30 น. การจราจรเริ่มติดขัด ตัดสินใจจอดรถหน้าโรงพยาบาลแล้วลงเดินทาง เป้าหมาย "วัดโพนชัย" จุดเริ่มต้นของบุญผะเหวด
แล้วบุญผะเหวด และประเพณีผีตาโขน คืออะไรล่ะ? ขอเล่าให้ฟังในฐานะคนเดินทางคนนึง อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะเป็นเพียงประสบการณ์ที่พบเห็นกับเรื่องที่ได้คุยกับผู้คนที่อยู่ในพื้นที่นะครับ


งานบุญผะเหวด เป็นงานบุญมหาชาติ ที่กล่าวถึงพระเวสสันดร ถือเป็นงานบุญหลวงของชาวอีสาน  จัดขึ้นในช่วงเดือน 7 ซึ่งไม่ได้มีแต่ที่จ.เลยนะครับ ตามภาคอีสาน หรือภาคเหนือก็มี อย่างงานบุญบั้งไฟ นั่นก็ใช่ โดยหลัก ๆ แล้วจะแบ่งออกเป็น 3 วัน วันแรก (27 มิ.ย. 57) เป็นวันโฮม แต่เช้ามืดมีพิธีเบิกพระอุปคุตต์ เพื่อนำมาร่วมบุญ วันที่สอง (28 มิ.ย. 57) เป็นวันแห่ผะเหวด วันนี้เป็นวันที่จะมีการแห่แหนขบวนของผีตาโขน ขบวนของเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่เทียม "ผีตาโขน" เป็นคำที่กลายมาจากคำว่า "ผีตามคน" ที่ได้รับอิทธิพลจากมหาเวสสันดรชาดก ที่เมื่อพระเวสสันดรและพระนางมัทรี จะเสด็จกลับจากป่าเข้าสู่เมือง เหล่าสัตว์ป่าและผีสางนางไม้ ต่างก็เศร้าใจ อาลัยในการลาจาก จึงพากันตามมาส่งเข้าสู่เมือง ซึ่งผีตาโขน จะแบ่งเป็นผีตาโขนเล็กที่เราเห็นทั่ว ๆ ไป แต่งตัวใส่หน้ากาก และผีตาโขนใหญ่ ทำจากไม้ไผ่สานทำเป็นผีใหญ่กว่าคนร่วมสองเท่า โดยเมื่อเสร็จงานแห่แหนแล้ว พอพลบค่ำ ก็จะมีการนำผีตาโขนใหญ่ไปทิ้ง เพื่อเป็นการทิ้งโชคร้าย ทิ้งความเศร้าโศก วันที่สาม (29 มิ.ย. 57) วันสุดท้าย แต่เช้ามืดจะมีการเทศน์มหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์ ที่วัดโพนชัย เพื่อเป็นกุศลศิริมงคลแก่ผู้มาร่วมงานบุญ

ผมมีโอกาสเข้าร่วมงานประเพณีนี้แค่วันเดียวคือวันแห่ผีตาโขน ความสนุกสนาน ความคิดสร้างสรรค์ ยังบวกรวมกับวัฒนธรรมเก่าดั้งเดิมได้อย่างไร้รอยต่อ ภาพผีตาโขนใหญ่ ที่แบ่งผู้ชาย ผู้หญิงชัดเจน หรือผีตาโขนน้อย จำนวนมาก สีสันหลายหลาย การเต้นรำที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของผีตาโขน การร่ายรำที่อ่อนช้อยงดงามไม่หยุดของเหล่าคนทรงเทพ ขบวนเสลี่ยงของเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่เทียม 

เต้นกันไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย
ขบวนร่ายรำตาม ขบวนแห่เจ้าพ่อกวน เจ้าแม่เทียม
 ทุกสิ่งทุกอย่างที่สัมผัส ตื่นตาตื่นใจ ชวนให้หลงใหล ไปกับชาวบ้าน ที่วัดโพนชัย จะเป็นจุดที่ขบวนผีตโขนทุกขบวนมาจบลง เหมือนเป็นการส่งพระเวสสันดรกลับสู่เมืองนั่นเอง
ภายในวัดโพนชัย ยังมีพิพิธภัณฑ์ผีตาโขน ให้เข้าไปศึกษา และหลวงพ่อใหญ่ที่สวยงานอยู่ในอุโบสถอีกด้วย

ไปร่วมงานบุญงานประเพณีเขาด้วยความกลมกลืนอยากรู้อยากเห็น ประทับใจกับงานกับผู้คนกับวัฒนธรรม ประเพณี เสียอย่างเดียวไม่มีโอกาสชิมข้าวโพดตักหงาย ที่เขาว่ากินเพลิน กินอร่อยจนลืมตัว กินเสร็จลุกขึ้น อิ่มจนหงายหลังไม่รู้ตัว ข้าโพดชื่อดังของด่านซ้ายเลยคราวนี้ แล้วก็ยังไม่ได้รู้เลยว่าพวกคนที่เอาโลนชุบตัวเดินในขบวนมีความหมายยังไง ไว้ปีหน้าฟ้าใหม่ เวลาเป็นตา โอกาสเป็นใจ ค่อยมาเยือนใหม่นะ ผีตาโขน ด่านซ้าย
มนุษย์โคลนในขบวนแห่ ยังไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร?
ขบวนแห่จากอำเภอต่างๆ เพื่อไปวัดโพนชัย
ผีตาโขนเล็ก
ผีตาโขนใหญ่ ผัว เมีย 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น