วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เชียงคาน.. การเดินทางก่อนจุดหมาย

ประเพณี บุญผะเหวด ที่มีขบวนผีตาโขนคอยแห่แหน งานประจำปียิ่งใหญ่ ทีอ.ด่านซ้าย จ.เลย ที่ตั้งใจว่าจะไปร่วมชมมาหลายปีแล้ว ปีนี้ก็สามารถจัดสรร จัดการตัวเองให้ไปร่วมชมงานได้ซักที สำหรับปีนี้ (พ.ศ. 2557) งานประเพณีตรงกับวันที่ 27, 28 และ 29 มิถุนายน ได้เวลาเดินทางไปชมกันแล้ว
ด้วยเวลาที่จำกัด ทำให้ต้องเดินทางในวันที่ 27 ก็ต้องยอมพลาดไปสำหรับงานวันแรก ขับรถออกจากกรุงเทพ เป้าหมาย จังหวัดเลย ไปตามทางหลวงหลักมุ่งหน้า สระบุรี เพชรบูรณ์และสุดท้ายที่ จ.เลย
วันแรกตั้งใจว่าจะลองไปเชียงคาน ระหว่างที่ขับรถช่วงหล่มเก่า-ด่านซ้าย เลยเลี้ยวขวาเข้าทล. 2016 วิ่งขึ้นเขาลงห้วยกันไป ไม่อยู่ในทางหลัก อาจพบเจอกับสิ่งที่แปลกตามากขึ้น เป็นการขับรถเกือบ 2 ชั่วโมงอยู่บนสันเขา โดยพบเจอรถยนต์คันอื่น ๆ ไม่ถึง 10 คัน ได้เจออุโมงค์ต้นไม้สวยๆ

ได้เห็นภูหลวง และภูหอเต็ม ๆ ตา แต่ในความงามก็ย่อมมีบาดแผล เพราะระหว่างทางพบเจอแต่ภูเขาหัวโล้น ป่าที่โดนโค่นทำลายเพื่อการใด ๆ ไม่ทราบ และได้ประโยชน์ จริงหรือไม่ก็ไม่รู้ ซึ่งสร้างความหดหู่ เศร้าใจ กับความสูญเสียที่พบเห็น

เมื่อเข้าเมืองเลย ก็เลยไปเชียงคาน เมืองริมโขงสุดฮิต ที่ใคร ๆ ก็อยากมา แต่เมื่อได้มาสัมผัสก็พบว่าเชียงคาน กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและถนนคนเดินธรรมดาไปแล้ว มีเสื้อผ้าเหมือน ๆ กัน ขายอยู่ทั่วไป สินค้าที่หาซื้อได้เกือบทุกที่ทั่วประเทศ

"คนเขาไม่สนใจจะส่งไปรษณีย์กันแล้วพี่ ก็ซบเซาลงหน่อย"
คำพูดจากพ่อค้าโปสเตอร์ทำมือบอก ร้านของเขาตั้งวางสินค้าไว้บนจักรยานเก่า ๆ ขายโปสการ์ดที่ทำจากรูปถ่ายของตัวเองและเพื่อน ๆ ที่บันทึกไว้ในจังหวัดเลย นำมาขายที่เชียงคาน ริมโขงนี่ ที่แปลกสำหรับผมก็คือ โปสการ์ดไม้ที่ทำเป็นภาพพิมพ์ไม้และใช้ส่งไปรษณีย์ได้จริง สวยและไอเดียดี นอกจากนี้ก็ได้ลองกินกุ้งแม่โขงปิ้ง ตัวเล็ก ๆ เค็ม ๆ อร่อยดีเหมือนกัน ไม้ละ 10 บาท "กินได้ทั้งเปลือกเลยจ้า ยายไปรับกุ้งมาปิ้งเอง" คุณยายที่นั่งขายอยู่บอกมา ผมได้เดินชมบ้านเก่าเมืองแก่ ที่ว่ากันว่าสวยงาม ซึ่งตอนนี้ส่วนใหญ่ก็กลายเป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวกันไปหมดแล้ว อาหารการกินที่เหมือนจะเปลี่ยนรสชาดไปตามคนที่มาเยี่ยมชม

ถนนคนเดินสำหรับเชียงคาน อาคารเก่า สวย ความหลากหลายของอาหารถิ่น สินค้าทำมือ ของพื้นเมืองจากชาวบ้าน ในความรู้สึกผม ยังสู้ กาดกองต้า ที่ จ.ลำปางไม่ได้เลย

กลับจากเชียงคานเข้าสู่ที่พักแถวถ้าผาปู่ นอนมองดาวในวันฟ้าใส พลางคิดไปว่านานเท่าไหร่แล้วที่ไม่ได้มองดาวบนฟ้าชัด ๆ แบบนี้

ผมอาจไม่มีเวลามองหา ศึกษาเชียงคานนานนัก เพียงอยากจะบอกว่า หากไม่มีอัตลักษณ์ของท้องถิ่น หรือสถานที่นั้น ๆ วันนึงข้างหน้า อาจไม่มีเชียงคานที่สวยงามและสงบให้คนไปเยี่ยมชมอีกต่อไป
ว่าจะเขียนเรื่องผีตาโขน กลายมาเป็นเชียงคานได้ยังไงไม่รู้

เพราะภาพที่ได้รับ สิ่งที่ได้สัมผัส กับเรื่องที่ได้ยินมา เนื้อหาที่เคยอ่าน มันช่างแตกต่างกันเกินไป
หรือเพราะตัวผมเองยังไม่เปิดตา เปิดใจค้นหา ใช้เวลากับเชียงคานให้มากกว่านี้กันแน่
ไว้ค่อยมาเล่าเรื่องผีตาโขนกับความประทับใจให้ฟังอีกที

วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ฝัน

ปี 2556 ช่วงเวลาที่เพิ่งฟื้นตัวได้หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ เป็นปีที่ต้องผ่านอะไรมามากมาย ดีใจ เสียใจ เจ็บปวด สูญเสีย เปลี่ยนผ่าน หลายสิ่งหลายอย่างผ่านเข้ามาในชีวิต
ต้นปีนั้น ผมได้มีโอกาสรู้จักกับนิตยสารรูปแบบใหม่เล่มหนึ่งซึ่งแค่ชื่อก็โดนใจผมแล้ว นิตยสาร “หนีกรุง ไปปรุงฝัน” หลังจากนั้นก็ได้ติดตาม ได้สัมผัส ได้รับรู้ข้อมูลต่าง ๆ จากนิตยสารท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ฉบับนี้ สำหรับคนที่อ่านหนังสือเรียงหน้าไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้ายแบบผม มันทำให้รู้สึกสนุก และสามารถนั่งอ่านได้เรื่อย ๆ น่าเสียดายที่ไม่มีโอกาสได้รู้จักกันมาก่อนหน้านี้ เพราะมารู้ตอนหลังว่าเคยเป็น Free Copy แจกให้อ่านฟรี ๆ มาก่อน เมื่อได้มาสัมผัส รวมทั้งได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมของทางหนีกรุง ก็ยิ่งชอบ ยิ่งรักจนสมัครสมาชิกต่อมาเป็นปีที่สอง ผมเคยเป็นสมาชิกนิตยสารหลายเล่ม เล่มนึงที่ยืนยงมายาวนานก็ National Geographic Thailand ที่เป็นมาตั้งแต่เล่มแรก

ส่วนหนีกรุง ก็น่าจะเป็นสมาชิกกันไปอีกนานเหมือนกัน
คำถามว่าเพราะอะไร คงตอบได้ยาก เช่นเดียวกับคนที่รู้จักผมมักบอกว่าผมเป็นคนที่เข้าถึงยาก แต่คบได้ง่าย
ผมคิดว่าหนีกรุงเป็นนิตยสารที่จริงใจ จริงใจกับความคิด ความฝันของตัวเอง จริงใจกับการนำเสนอและการทำงาน รวมไปถึง จากการที่ผมถ่ายภาพมายาวนานตั้งแต่สมัยฟิล์ม จนมาชะลอตัวลงในยุคดิจิตอล สิ่งหนึ่งที่ผมเป็นคือ ภาพทุกภาพที่ถ่ายออกมา ย่อมสวยงามเสมอ อันเป็นเหตุให้ผมมีความเห็นที่แตกต่างจากตากล้องส่วนใหญ่ที่ผมรู้จัก เป็นเหตุให้ผมไม่ไปออกทริปถ่ายภาพกับใครทั้งนั้น ไปที่ไหนก็ไปคนเดียว ในคอลัมม์ “อารมณ์เหนือคมชัด” ในหนีกรุงก็ช่วยบอกได้ว่า คนที่คิดแบบผมไม่ได้มีแค่คนเดียว ทำให้มีความรู้สึกว่ามีเพื่อนที่เข้าใจกันได้ดีอยู่ด้วย โดยไม่ต้องพูดคุยกัน เมื่อปีก่อน ยังมีคอลัมม์ “เจ้าถิ่น” ที่นำเรื่องราวของหมาจากที่ต่าง ๆ ที่ไปพบมา นำเรื่องราวของมันมาให้รู้จัก คอลัมม์นี้ปิดตัวไปแล้ว ยังคิดถึงคอลัมม์นี้อยู่นะ ทำให้เวลาไปไหนมาไหน เลยทำมันซะเอง ถ่ายรูปมันเอง เล่นเอง เขียนเอง อ่านเอง สนุกกันไป

 วันนี้หลังจากที่ไม่ได้เขียนเรื่องราวต่าง ๆ มาเป็นปี ๆ คอลัมม์ “เสี้ยวแห่งค่ำคืน” เรื่องหน่วยของความฝัน ที่เขียนโดยเฒ่าแสวงสุข ก็ทำให้ผมน้ำตาจะไหล ไม่ใช่เพราะเศร้า แต่เพราะย้อนกลับมาคิดถึงตัวเอง ว่าคนที่เป็นอย่างเรา ยังมีอยู่อีกมาก แสดงว่าเรายังมีเพื่อน และมีโอกาสที่จะเจอ เมื่อวัน เวลา และโชคชะตา เดินทางมาบรรจบกันพอดี ทำให้ผมหันกลับมาเขียนเรื่องราวใหม่ ๆ อีกครั้ง และจะพยายามรักษาความรู้สึกนี้ไว้นาน ๆ เพื่อให้ฝันเติมเชื้อไฟให้ใจทำตามที่ฝัน


ผมมีความฝัน ทุกคนมีความฝัน ผมพยายามทำตามความฝันเกือบทุกเรื่อง ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ยังอยู่ในสมองบ้าง ยังอยู่ในจิตใจบ้าง ยังคงพยายามทำต่อไป ฝันพันเป็นจริงได้สิบ ก็คุ้มค่าที่จะฝันแล้ว

 ขอบคุณ หนีกรุง ไปปรุงฝัน ที่ย้อนกลับมาย้ำว่า ฝันไปเถอะ คนเรามีความฝันเป็นความหวังและแรงผลักดันเสมอ และบอกว่าเราไม่ได้เป็นอย่างนี้อยู่คนเดียวในโลกหรอก ยังมีเพื่อนที่เหมือน ๆ กันอยู่เสมอ