วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

Dante's Inferno

เชื่อเรื่องนรกกันไหมครับ
ในบ้านเราก็มีความเชื่อในเรื่องของนรกและบาปบุญคุณโทษอย่างหนึ่ง
ที่อื่น ๆ ก็มีความเชื่อในเรื่องนี้อีกอย่างหนึ่ง
แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ นรก เป็นสถานที่สำหรับคนที่ทำชั่ว ทำเลว โดยแยกออกเป็นขุมต่าง ๆ แยกกันตามความชั่วที่ได้กระทำ
เกริ่นไปเล็กน้อย เพื่อเข้าสู่เรื่องที่ติดเอาไว้เรื่องหนึ่ง นั่นคือ เมื่อสองเดือนก่อน ได้เล่นเกม เกมหนึ่ง ซึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับนรกและเป็นเกมที่สร้างจากงานของ Dante Alighieri นักกวีมีชื่อจากสมัยศตวรรษที่ 14 ที่เคยแต่งเรื่อง Divana Commedia  หรือเป็นภาษาอังกฤษว่า The Divine Comedy ถูกเขียนขึ้นในระหว่างปี 1308 - 1321 ซี่งในบทประพันธ์จะกล่าวถึงตัว Dante ที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือน อาณาบริเวณทั้ง 3 ในโลกหลังความตายอันได้แก่ Inferno (นรก) Purgatorio (ดินแดนที่วิญญาณรอการพิพากษา) และ Pasadiso (สวรรค์)  
โดยมีผู้นำทางคือ วอร์จิล  (Virgil) ผู้พา Dante ไปยังนรกและดินแดนแห่งการพิพากษา และบีทริซ (Beatrice) หญิงผู้ไร้ตัวตน ผู้พา Dante ไปยังสวรรค์ เธอเป็นชาวเมืองฟลอเรนซ์ที่เขาพบเมื่อวัยเด็กและยกย่องเธอด้วยความรักที่สุภาพซึ่งเน้นในผลงานก่อนหน้านี้ที่เขาได้เขียนเอาไว้ ชื่อว่า La Vita  Nuova
ทำให้รู้ว่านรก (Inferno)(Hell) ตามความเชื่อในสมัยนั้นคือ
Lust (ความใคร่โลกีย์) แน่ละนรกขุมนี้ย่อมเป็นสถานที่สำหรับผู้ประพฤติผิดในกาม ตามศีลข้อที่ 3 ในศาสนาพุทธของเรานะ คงไม่ต้องพูดอะไรมากทุกคนคงเข้าใจกันดี และ
หลายคนก็ยังคงวนเวียนอยู่ในความใคร่ และมักมากในกามนี้อยู่โดยหลงคิดว่าเป็นความสุขที่สุด แต่ความสุขของคนเราไม่ใช่เพียงเรื่องนี้นะครับ แน่ละ ผมเคยผ่านช่วงที่มัวเมาอยู่ในเรื่องนี้มาก่อน
แต่ตอนนี้ผมผ่านมาได้แล้ว และพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่แล้ว หากจะเจอกันที่นรกขุมนี้ คงเจอผมแค่ช่วงเดียวแหละ หากพวกคุณ ๆ ยังคงมัวเมาอยู่ 
Gluttony (ความตะกละ) ความตะกละเป็นบาปด้วยหรือ? ถ้าถามผม ผมเห็นว่าความตะกละเป็นบาปครับ เนื่องจากยังมีผู้คนที่มีอาหารไม่เพียงพออยู่ในโลก การที่เรากินอย่างตะกละตะกราม หรือ
กินทิ้งกินขว้าง ก็จะเป็นการเห็นแก่ตัวและเอาเปรียบผู้อื่นอย่างมาก และยังเป็นสิ่งที่จะเริ่มต้นไปสู่การทำความชั่วอื่น ๆ ที่มีเหตุเริ่มต้นจากความตะกละ ทั้งการเอาเปรียบผู้อื่น หรือการดื่มน้ำเมา
หากเราลดความตะกละของตนได้ก็จะเผื่อแผ่ไปสู่คนอื่นได้ครับ
Greed (ความโลภ) อันนี้แน่นอน ในพุทธศาสนาเราก็สอนให้ไม่โลภนะ เราคงเข้าใจกันดี เมื่อเกิดความโลภ ย่อมเกิดการแสวงหาเพื่อให้ได้มา หากไม่ควบคุมความโลภของเราให้ดี ๆ
อาจเป็นการแสวงหาเพื่อให้ได้มาโดยวิธีที่ผิด ๆ ได้นะครับ ความโลภนี่มีได้ แต่ต้องควบคุมให้ได้เช่นกัน
Wraith (ความโกรธ) เช่นกันกับความโลภ ในพุทธศาสนา ก็สอนเรื่องความโกรธ หากเราคิดง่าย ๆ หากเราโกรธ จิตใจก็ขุ่นมั่ว พลอยทำให้หน้าตาก็ไม่สดใส และ
อาจทำให้เราตัดสินใจทำอะไรผิดพลาดได้ง่าย ๆ เพราะความโกรธทำให้เรามองไม่เห็นภาพมุมกว้าง เห็นเฉพาะจุดที่เราโกรธเท่านั้น แล้วเราจะแก้ปัญหาได้เหรอ
Heresy (ความเห็นนอกรีต) ข้อนี้เป็นตามสมัยนิยม ในสมัยนั้น ที่การเผยแพร่ศาสนาขยายตัวอย่างหนัก จึงเป็นเหตุในความเชื่อในข้อนี้ออกมาเพื่อป้องกันผู้นับถือต่างจากตน ข้อนี้คงไม่พูดถึงมากครับ
Violence (ความรุนแรง) เห็นด้วยเป็นอย่างมากเลยข้อนี้ หากเราใช้กำลังเพื่อตัดสินทุกสิ่งทุกอย่าง โลกนี้คงเต็มไปด้วยความรุนแรง และความวุ่นวาย พยายามใช้สมอง, เหตุผล และความเป็นจริง
สำหรับการตัดสินทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตกันเถอะครับ
Fraud (การโกง) ข้อนี้... คงไม่ต้องพูดอะไรมาก ทุกคนรู้จักการโกงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการโกงตรง ๆ หรือโกงเชิงนโยบาย แล้วปัจจุบันนี้ หลาย ๆ คนก็โกงเพราะไม่ได้คิดว่าเป็นสิ่งผิด น่ากลัวมากนะ
และผมก็ไม่ชอบการโกงมาก ๆ เลย
Treachery (การทรยศ) เป็นผลต่อเนื่องมาจากการไม่ไว้วางใจกัน และความโลภ โกรธ หลง อันทำให้คนเราทำลายความไว้ใจของผู้อื่น ๆ

เมื่อพิจารณาดูนรกของชาวตะวันตกเมื่อช่วงศตวรรษที่ 14 ก็เห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันกับของความเชื่อของบ้านเรา นั่นหมายความว่าความชั่ว มีความหมายที่ใกล้เคียงกัน โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจาก
รัก โลภ โกรธ หลง  หากเราควบคุมเรื่องราวพวกนี้ได้ เราคงไม่ต้องไปทนอยู่ในนรกกันละมั่ง
เมื่อมนุษย์สร้างเรื่องนรกมาเพื่อป้องกัน หรือสร้างความกลัวให้กับผู้ที่จะทำความชั่ว นั่นคือการควบคุมด้วยความกลัว เมื่อกลัวจึงไม่กระทำ ความชั่วหนึ่งย่อมส่งผลให้เกิดความชั่วอย่างต่อ ๆ ไปได้ตลอด

หากเรื่องนรก ไม่เป็นความจริง เป็นเพียงเรื่องที่มนุษย์สร้างขึ้น เมื่อคนเราเลิกกลัวซะแล้ว ความเลวคงมากขึ้นจนล้นโลกละมั้ง แต่ถ้ามนุษย์สอนกันด้วยความเข้าใจ ทำให้ไม่อยากทำเลวได้ด้วยตัวเอง โลกนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมีนรกมาคอยควบคุมการทำความเลวของคนเราอีกต่อไป โลกคงน่าอยู่ขึ้นอีกมหาศาล เพราะคนเรารู้จักการอยู่ร่วมกันอย่างแท้จริง

อย่าทำดีเพราะอยากขึ้นสวรรค์ และอย่ารู้สึกว่าต้องไม่ทำชั่วเพราะกลัวตกนรก

อยู่อย่างรู้จักคิดและพิจารณา อย่าตกอยู่ในวังวนของ รัก โลภ โกรธ หลง จนหน้ามืดตามัวกันนะครับ

วันพุธที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2553

ไม่ยินดียินร้าย

ช่วงนี้สถานการณ์ในกรุงเทพฯ แล้วก็ในประเทศไทยนี่ ค่อนข้างอึมครึมนะครับ
คงเป็นเพราะการที่มีกลุ่มคนที่ความคิดเห็นต่างกัน ความต้องการต่างกัน ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีต่างกัน
เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เยอะ เพื่อเรียกร้องอะไรบ้างอย่าง โดยไม่สนใจกฎเกณฑ์ และสิทธิของผู้อื่น

ประชาธิปไตยที่เรียกร้องนั้น พื้นฐานอยู่ที่สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลนะครับ การปิดถนนทำให้ผู้อื่นเสียสิทธิของเขา เป็นประชาธิปไตยตรงไหน?


สำหรับผมนั้น ก็ขอบอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของผู้เสียผลประโยชน์ 2 ฝ่ายที่ อ้างเอามวลชนขึ้นหน้าและหาเหตุ เพื่อหวังผลในการครอบครองอำนาจ
ไม่ได้ว่าสีเดียวนะ ก็ทั้ง 2 สีนั่นแหละ ในฐานะคนกรุงเทพฯ แท้ ๆ ขอบอกว่าผมแล้วก็คนแถวๆ บ้าน แล้วก็เพื่อนในบริษัทฯ เบื่อกันมาก ๆ ที่ว่าไม่มีคนกรุงเทพฯ ต่อต้านน่ะ ใครเขาจะกล้าออกมาต่อต้านครับ น่ากลัวกันซะขนาดนั้น
วันที่เขาเอาเลือดไปเทกัน ผมก็ไปบริจาคเลือดนะ แต่ให้กับกาชาด เลือดยังสำคัญมาก ๆ กับผู้ป่วยจำนวนมาก การเอาเลือดไปเททิ้งอย่างนี้ นอกจากอาจจะเป็นการแพร่เชื้อโรคที่มากับเลือดได้แล้ว ยังเป็นการลิดรอนสิทธิของโอกาสในการมีชีวิตอยู่ของคนป่วยหลายๆ คนด้วย
เรื่องนี้น่าด่ามาก ๆ หรือน่าจะมีใครที่อยู่ใกล้ ๆ สถานที่นั้นๆ ไปแจ้งความไว้นะครับ

ส่วนเรื่องเอาเลือดไปปาใส่บ้านนายกฯ นี่ผมว่าเป็นสถานที่ส่วนบุคคลนะครับ ย่อมมีเหตุอันควรที่จะปกป้อง บ้านนายกฯ นี่แค่ราดน้ำยาฆ่าเชื้อออกมานะ แค่ป้องกัน ยังไม่ทันจะตอบโต้เลย
หากมีใครเอาของมาปาใส่บ้านคุณคุณจะปกป้องไหม  หรืออาจจะขยายไปจนถึงขั้นที่ต้องตอบโต้เลย
ประชาธิปไตย คือการเคารพสิทธิของผู้อื่นนะครับ การกระทำอย่างนี้เรียกว่าประชาธิปไตยตรงไหน?

ช่วงเย็น ๆ เวลากลับบ้านผมต้องเปลี่ยนเส้นทางมาขึ้นสะพานปิ่นเกล้า เพราะทางปกติต้องผ่านทำเนียบรัฐบาล ตอนมีชุมนุมของกลุ่มก่อนหน้าก็ทำให้ผมเสียสิทธิในการเดินทางกลับบ้านตามปกติอยู่แล้ว
กลุ่มนี้ก็มาเอาสิทธิของผมไปอีก เพื่อประชาธิปไตยกันตรงไหน?
แล้วพอติดไฟแดงอยู่ รถมอเตอร์ไซค์ ที่มาจากกลุ่มชุมนุม ไม่ใส่หมวกกันน็อค วิ่งบนถนนหลวง ผิดกฎหมาย ทำไม? เมื่อฝ่าฝืนกฎหมาย ทำไมยังมีหน้ามาเรียกร้องสิ่งอื่น ๆ ได้อีก
มีคนที่มีหมายจับอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม ทำไมไม่จับ?
ในเมื่อกลุ่มผลประโยชน์ 2 กลุ่มกำลังชิงความได้เปรียบในการครองอำนาจอยู่ อะไร ๆ ก็ไม่สามารถจัดการได้อย่างเต็มที่
มวลชนที่หลงเชื่อย่อมเป็นได้แค่เบี้ยที่มีประโยชน์น้อย หากได้ตามที่หัวหน้ากลุ่มหวัง คิดว่าผู้ที่หลงเชื่อจะได้อะไรหรือ?
การมาร่วมชุมนุมเป็นเวลานานๆ ของทั้ง 2 กลุ่ม ผมเป็นคนที่ทำงานหาเงินมาใช้จ่ายคนหนึ่ง จึงไม่เข้าใจว่าสามารถไม่ทำงานมาร่วมชุมนุมเฉย ๆ นาน ๆ ได้ยังไง
ไม่ทำมาหากินกันกันเหรอ? ลูกเมียจะกินอะไร? เอาเงินที่ไหนมาใช้กันนะช่วงนี้?
ถ้าเห็นว่าเงินเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ชีวิตก็ไม่มีความสุขหรอกครับ

วันก่อนมีต่างชาติเข้ามาดูงานที่บริษัทฯ เขาก็บอกว่าจริงๆ ไม่อยากมาช่วงนี้ เพราะสถานการณ์ไม่ดี แต่ต้องมาเพราะเลื่อนไม่ได้
ตอนมืดพาไปกินข้าวเย็น เขาพูดมาคำหนึ่ง ว่าเดือนหน้าต้องไปดูงานที่ดูไบต่อ
"ว่าจะไปซื้อดูไบแมน"
"ซื้อดูไบแมนได้ ก็ซื้อประเทศไทยได้"
พวกคุณรู้สึกอย่างไรไม่รู้นะ แต่ผมรู้เลยว่ารู้สึกเจ็บ หน้าชาเลย ชาวต่างชาติก็ยังเห็นว่าปัญหาเกิดจากใคร ทำไมคนไทยบางส่ววนยังคิดไม่ได้นะ

บ่นเรื่องน่าเบื่อ ๆ ไปแล้ว ยังไงก็ขอให้คิดกันอย่างสบายๆ นะครับ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ครับ ไม่มีอะไรที่เป็นจริงทั้งนั้น
พิจารณาถึงเหตุและผล แต่อย่าเอาการกระทำของผู้อื่นมาคิดและเอาใจใส่ขนาดต้องเครียดนะครับ

เพราะเราไม่ใช่มนุษย์สมบูรณ์
อย่าเอาการกระทำของผู้อื่น มาทำให้จิตใจเราขุ่นมัว
เมื่อจิตใจของเราขุ่นมัว ย่อมแสดงออกมาทางสีหน้า น้ำเสียง และการแสดงออก
ซึ่งไม่มีทางรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะกระทบต่อความรู้สึก ของผู้อยู่รอบข้างหรือไม่
หากไม่มีจิตใจที่ขุ่นมัว หรือหากเกิดขุ่นมัว แต่ขจัดออกได้อย่างรวดเร็ว
ชีวิตย่อมไม่ร้อนและใสตามจิตใจของเรา


ดังนั้น อย่าไปยินดียินร้ายกับเรื่องรอบๆ ตัวมากนักนะครับ

วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2553

ปริญญาบัตร ความลำบาก และทางเลือก

สัปดาห์ที่ผ่านมามีคำถาม เกี่ยวกับการรับปริญญาบัตร
คำถามสั้น ๆ
"การที่เราต้องลำบากไปรับปริญญามันดีตรงไหน เรียนยังไม่เท่านี้"
รูปภาพจากการไปรับปริญญาเพื่อนในปีนี้ครับ ขอแสดงความยินดีกับบัญฑิตใหม่ทุกท่านครับ

ขออธิบายก่อนว่าตอนที่ผมเรียนจบและถึงเวลาเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรนั้น และโดยนิสัยส่วนตัวที่ไม่ชอบอยู่ในกรอบนั้น ทำให้ผมตั้งใจว่าจะไม่รับปริญญา การเข้ารับปริญญา อาจทำให้พ่อแม่ลำบากที่มาร่วมงาน แต่ท่านเต็มใจหรือไม่
แต่ก็มีเหตุผลมากมายที่ทำให้ผมเข้ารับปริญญาในครั้งนั้น ด้วยความเต็มใจ
โดยมีความคิดที่ว่า ผ่านการเรียนที่ลำบากว่านี้ตั้งเยอะ เรายังผ่านมาได้ นับประสาอะไร กับแค่ สอง สาม วันที่เข้ารับปริญญา และเมื่อรับปริญญา และ หลังจากรับปริญญา การได้เห็นหน้า พ่อแม่ พี่น้อง ญาติ ๆ และ เพื่อน ๆ ที่มาแสดงความยินดี แล้ว ก็รู้สึกว่าเป็นครั้งนึงที่ทำให้คนอื่น ๆ ตั้งหลายคนภูมิใจ โดยเฉพาะพ่อแม่ ทำไมเราต้องคิดถึงแต่เพียงตัวเรา

โลกนี้แย่พอแล้วกับการทำอะไรก็คิดอยู่แต่เฉพาะตัวตนคนเดียว และต่อไปนี้เป็นคำตอบที่ผมตอบคำถามเมื่อสัปดาห์ที่แล้วไปครับ

เนื่องจากคนเราล้วนมีต้นกำเนิด และเนื่องจากต้นกำเนิดที่แตกต่างกัน
ความคิดและการดำเนินชีวิตจึงแตกต่าง
เนื่องจากคนเราล้วนต้องมีพ่อแม่ และพี่น้อง
การแสดงออกซึ่งความกตัญญูจึงมีความหมาย
เนื่องจากคนเราล้วนต้องมีเพื่อนพ้อง
การแสดงและรักษาน้ำใจจึงต้องคงอยู่
เนื่องจากคนเราล้วนต้องมีครอบครัว
ความซื่อสัตย์และจริงใจจึงสำคัญ

หากคิดเพียงตัวเรา
ไม่จำเป็นต้องทำตามกฎ
หากคิดเพียงตัวเรา
ไม่จำเป็นต้องกตัญญู
หากคิดเพียงตัวเรา
ไม่จำป็นต้องมีน้ำใจ
หากคิดเพียงตัวเรา
ไม่จำเป็นต้องซื่อสัตย์

พ่อแม่ย่อมอยากเห็นความสำเร็จของลูก
พี่น้องพ้องเพื่อนก็เช่นกัน
แม้คำพูดอาจจะไม่ แต่ในใจย่อมต้องการ
ภาพที่บันทึกในการรับปริญญา อาจทำให้คุณเหนื่อยหน่าย
แต่พ่อแม่ จะมองด้วยความปิติเสมอ ไม่ใช่เพียงวันที่รับ

หากบอกว่าการเรียนยังไม่เหนื่อยเท่า แสดงว่าคุณยังไม่พบความยากลำบาก จากการเรียน หรือก็เป็นเพราะคุณยังไม่เคยพยายามอย่างเต็มที่

อย่าได้เชื่อถือโดยเหตุสักว่า (5)

ช่วงนี้มีเรื่องเกิดขึ้นมากมาย อันเป็นเรื่องที่มีทั้งอยู่ใกล้ตัวและไกลตัว
และเป็นการยืนยันความจริงที่สุดที่คงอยู่ ของคำสอนที่มาจากพระพุทธเจ้า
ทั้งการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย ไม่มีใครหนีรอดจากทั้ง 4 เรื่องนี้ไปได้หรอกครับ
เพียงแต่เราจะมีการกำหนด และเตรียมตัว เตรียมใจ ทำความเข้าใจ เพื่อจะรับได้เมื่อถึงเวาลาที่ต้องเกิดหรือไม่..

ว่าแล้วก็เอาเรื่องต่าง ๆ ไว้ก่อน เก็บไว้เล่าให้ฟังวันหลัง.. เอ เหมือนว่าผมจะติดเอาไว้หลายเรื่องนะครับ ยังไง ก็จะทยอย ๆ มาเล่าให้ฟังละกัน

วันนี้มาคุยกันในเรื่องของความอย่าเชื่อกันต่อในข้อที่ 5
อย่าได้เชื่อถือ โดยการคาดเดาของตนเอง
ข้อนี้เป็นสิ่งชี้ที่สำคัญเกี่ยวกับคนเราเลยทีเดียว คนเราจำนวนมากที่เมื่อรู้อะไรสักเล็กน้อย และบางอย่างที่ยังไม่ชัดเจน ในความรู้นั้น ๆ ก็เดาเอา แล้วมาประกอบกับความรู้เล็กน้อยที่ตนรู้มาก่อน
และเชื่ออย่างจริง ๆ จัง ๆ ว่าสิ่งที่ตนคิดนั้นถูกต้อง โดยที่ยังไม่ได้พิสูจน์หรือหาหลักฐานมายืนยัน ความคิดของตน ผมว่าอย่างนี้เป็นการเดา เท่านั้นเอง
และเมื่อเดาแล้วก็เชื่อมั่นอย่างจิรงจัง ว่าเป็นจริง ถูกต้องจริง และยึดมั่นในความคิดส่วนนี้ แล้วที่ร้ายกว่านั้นคือบางคนมีโอกาสเอาไปเผยแพร่กับผู้อื่นอีกด้วย

ทำไมคนเราจึงชอบที่จะเดาเรื่องต่าง ๆ กันนัก
เพราะความไม่รู้ หรือเพราะรู้ไม่พอ
เพราะไม่ได้เรียนรู้ หรือไม่ยอมเรียนรู้
เพราะไม่รู้ตัวตน หรือไม่ยอมรับว่าตนไม่รู้

ผมไม่สามารถจะหาเหตุผลที่ดีมาตอบความไม่เชื่อในเรื่องนี้ได้ เพราะตัวผมเองก็ยังเป็นคนที่ยังใช้การเดาอยู่บ้าง เพียงแต่ไม่เผยแพร่ออกไปเท่านั้น
ผมคิดว่าเมื่อยังเป็นผู้ไม่รู้ ย่อมคู่อยู่กับการคาดเดา
ดังนั้น อย่าเอาความคิดเห็นส่วนตัวที่เกิดจากการเดา และอาจจะไม่เป็นจริงเช่นนี้ มานำการใช้ชีวิตครับ
และผมกำลังพยายามอยู่