วันอังคารที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

โลกใบใหญ่ ในสายตาของหนู (มะลิ)

หนูมะลิตอนเด็ก ๆ
ตอนเด็ก ๆ เมื่อแรกที่ย้ายมาอยู่ที่บ้านพ่อกับแม่ พร้อมด้วยพี่ชาย จะให้ทำยังไงกับสิ่งที่เราทั้งสองต้องเผชิญกันละ บ้านใหม่ สถานที่ใหม่ คนแปลกหน้า ห่างไกลแม่แท้ ๆ ไม่รู้ว่าเราทั้งสองจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง อาหารการกิน ก็ดีอยู่หรอกนะ ที่หลับที่นอนก็ใช้ได้ ต้นไม้เยอะ เพื่อนตัวเล็ก ๆ ก็แยะ เล่นสนุกได้ทั้งวัน จนเมื่อมาอยู่ได้สองสามวัน เช้าวันหนึ่ง เราทั้งคู่ก็ตกเป็นผู้ถูกกระทำ สิ่งที่เด็กอย่างเราไม่เคยต้องประสบมาก่อน ระหว่างที่พ่อกับแม่จับพี่ชายจัดการเป็นครั้งแรก หนูเห็นว่าเขาเงียบไม่พูดไม่จาก้มหน้ายอมรับชะตากรรม ในการที่ยอมให้พ่อกับแม่จัดการได้ตามใจ แต่ไม่ใช่หนู หนูจะยอมให้คนอื่นมาจับเนื้อต้องตัวง่าย ๆ ได้ยังไง ก็ต้องกรีดร้องเป็นธรรมดา แต่ก็ไม่มีใครสนใจเด็กหญิงตัวเล็ก ๆ อย่างหนูเลย ไม่ว่าหนูจะร้องคร่ำครวญแค่ไหนหรือส่งเสียงให้ดังเพียงไร ก็ไม่มีใครสนใจ โลกนี้ใจร้ายจริง ๆ หนูส่งเสียงร้อง พร้อมกับมองพี่ชายซึ่งโดนจัดการไปก่อนหน้านี้แล้ว เขาก็ไม่กล้ามาช่วยหนูอยู่ดี หนูหนาว หนูไม่รู้จะไปพึ่งใคร จนพ่อกับแม่จัดการเสร็จเรียบร้อย สีหน้าเหนื่อยอ่อน แต่มีความสุข พลางถอนใจ หนูจะจำไว้ว่าสิ่งนี้เรียกว่าการ “อาบน้ำ” อยากจะบอกว่าพอโตมานี่หนูชอบอาบน้ำเป็นที่สุดนะ เห็นพ่อกับแม่ลากสายยาง เตรียมอุปกรณ์อาบน้ำเป็นไม่ได้ ต้องรีบเข้าไปอ้อนเพื่ออาบน้ำเชียวละ ผู้หญิงก็ยังงี้ละค่ะ รักความสะอาด รักสวยรักงาม เป็นธรรมดานะ 

ลืมแนะนำตัวไป หนูชื่อ “มะลิ” พ่อกับแม่เรียกหนูแบบนี้ บางทีก็เรียกหญิง บางทีก็เรียกเขลอะ หนูคิดว่าตัวเองเป็นสาวสวย น่ารัก เสมอ ก็แม่ชมหนูอยู่บ่อย ๆ นี่นา นิสัยหนูก็ชอบวีน ชอบเหวี่ยง บ่นโน่น บ่นนี้ ไปตามเรื่องตามราว ช่างฝัน เอาแต่ใจเป็นที่หนึ่ง เชอะ ก็หนูเป็นเจ้าหญิงประจำบ้านนี่นา แต่มีเรื่องนึงที่หนูไม่เชื่อแน่ ๆ เกี่ยวกับตัวหนู พ่อกับแม่บอกว่า หนูชอบนอนละเมอ ละเมอวิ่ง ละเมอเห่า ตะกุยอากาศ อะไร ประมาณนี้ แต่หนูไม่เชื่อหรอก สาวสวยอย่างหนู่จะนอนละเมอได้ยังไงกัน เนอะ ๆ
นอกจากนี้นะ พ่อยังชอบว่าหนูซนมาก แม่ก็ชอบว่าหนูโตช้า ทำตัวเป็นเด็ก แต่แม่บอกว่าเป็นอย่างนี้ดีแล้ว หนูรักแม่แล้วก็ชอบให้แม่อุ้มที่สุดเลย พอแม่อุ้มหนูหนูจะมีความสุขที่สุด แล้วแถมยังได้มองหน้าพี่ชายตัวแสบเพื่อเยาะเย้ยที่แม่ไม่อุ้มเขามาตั้งนานแล้วอีกด้วยนะ

พอละวันนี้ ไว้หนูจะมาเล่าเรื่องราวของหนูกับพี่ชายนายมะระ ให้ฟังใหม่นะคะ ขอตัวไปแกล้งพ่อก่อนนะ

ชอบให้แม่อุ้มที่สุด

วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

โลกใบใหญ่ ในสายตาของผม (มะระ)

เกือบ 6 ปีก่อน ผมเกิดมาในบ้านเล็ก ๆ พร้อมกับพี่น้อง โดยไม่เคยได้รับรู้ว่าพ่อของผมเป็นใครมาจากไหน ลืมตาขึ้นมาก็ต้องดิ้นรนแย่งกันกินนมแม่ ซึ่งผ่ายผอมจากการที่ต้องอุ้มท้องพวกเรามาโดยที่ไม่มีการเสริมอาหาร หรือบำรุงร่างกายเป็นพิเศษ เมื่อโตมาอีกนิดพอจะเดินได้ก็ต้องแย่งกันกินข้าวเพื่อให้ชีวิตอยู่รอดต่อไป วัคซีนหรืออะไรที่น่าจะได้รับตอนแรกเกิดก็ไม่เคยได้รับ เนื่องจากการที่ต้องต่อสู้ดินรนตั้งแต่แรกเกิด ทำให้ผมมีความหวาดกลัวต่อโลกและคนแปลกหน้าเข้ามาด้วย 
เมื่อผมเริ่มเดินได้เก่งขึ้นและหย่านมแล้ว มีผู้ชายหน้าตาดุ ๆ และผู้หญิงสวย ๆ มาที่บ้านของแม่ผม 
ผมเห็นผู้ชายคนนั้นมองผมตั้งแต่แรกที่เข้ามา แล้วยังไปพูดอะไรบ้างอย่างกับผู้หญิงคนนั้น เธอก็มองมาที่ผมแล้วมองผ่านไปยังหนึ่งในน้องสาวด้วย แล้วผู้ชายก็เดินเข้ามา พยายามจะจับตัวผม ผมพยายามหลบเข้าไปอยู่โต๊ะ แต่ก็ยังไม่รอดพ้นมือเขาไปได้ น้องสาวตัวเล็กของผมก็โดนผู้หญิงคนนั้นจับไปเหมือนกัน ทั้งผมและน้องถูกจับไปขังไว้ในกล่องแล้วพาออกไปจากบ้าน บ้านของแม่ผม บ้านที่ผมเกิดมา นี่ผมจะไม่ได้เห็นหน้าแม่อีกแล้วซินะ ระหว่างที่พวกเขาพาผมกับน้องไป ผมได้แต่นั่งเงียบด้วยความกลัว ส่วนน้องสาวก็ส่งเสียงร้องเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ไม่มีใครช่วยเราเลย โลกใบใหญ่นอกบ้านของแม่ ช่างโหดร้าย ไม่มีใครสนใจจะช่วยเหลือเด็กตัวเล็ก ๆ ที่ถูกจับมากันเลยหรือนี่
มะระ กับ มะลิ ตอนอายุ 3-4 เดือน

พวกเขาพาผมมาไว้ที่บ้านอีกหลังนึง บ้านซึ่งดูเหมือนเพิ่งผ่านงานรื่นเริงมาเมื่อวานนี้นี่เอง มีผู้ชายอีกสองคนช่วยกันจับผมกับน้องสาวขังไว้ในกรงไม้ไผ่แคบ ๆ โคนต้นมะม่วง นี่ผมสองคนกับน้องจะต้องโดนอะไรบ้างนะ ในขณะที่น้องสาวผมนั่งตัวสั่นด้วยความกลัว ผมแกล้งทำเป็นนิ่งว่าไม่กลัว แล้วคอยปลอบใจน้องอยู่ตลอดเวลา

ยังดีที่พวกเขายังเอาข้าว เอาน้ำมาให้พวกเรากินแก้หิวบ้าง แรก ๆ ผมก็ไม่กล้ากิน แต่พอน้องผมเริ่มกิน ผมก็กินบ้าง ถึงตอนนี้ผมก็ยังไม่รู้อนาคตตัวเองอยู่ดี รู้แต่ว่ายังไงก็คงต้องท้องอิ่มไว้ก่อน เมื่ออิ่มแล้วผมกับน้องก็เผลอหลับไปตรงโค่นต้นมะม่วงตรงนั้นเอง
รู้สึกตัวตื่นอีกที ด้วยเสียงพูดคุยถกเถียงกัน ผมกับน้องจ้องมองพวกเขาด้วยความตระหนก จนในที่สุดเข้าก็สรุปกันได้แลก็พูดว่า “ชื่อมะระก็แล้วกัน ส่วนตัวเล็กชื่อมะลิ น่ารักดี

ตั้งแต่วันนั้นหมายไทยพันธ์ทางอย่างผมผมก็ได้ชื่อว่า “มะระ” ส่วนน้องสาวตัวเล็กก็ชื่อ “มะลิ” แล้วก็ย้ายมาอยู่ในบ้านพ่อกับแม่เป็นการถาวร
โลกของผมก็ใหญ่ขึ้นมาอีกนิดนึง ไว้จะมาเล่าเรื่องราวของผมต่อคราวหน้า  ค่อยติดตามกันนะครับ
มะระ ตอนอายุซัก 3-4 เดือน

วันพุธที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

บุญผะเหวด แห่ผีตาโขน ๒๕๕๗

เที่ยงวันผีตาโขนก็ต้องมีพักผ่อนกันบ้าง
ถอดหัวผีออกพักกันอยู่ข้างโบสถ์
ออกมาจากเชียงคานละ ทิ้งเรื่องราวค้างคาใจไว้ที่ริมแม่โขง เช้าวันต่อมาก็ออกเดินทางเพื่อมุ่งหน้าสู่อ.ด่านซ้าย เป้าหมายของการเดินทางครั้งนี้ ขับรถออกจากที่พักแถวถ้ำผาปู่ ขับรถขึ้นภูเรือบนทางหลวงหลายเลข 203 ช่วงเริ่มต้นของการเดินทาง เห็นเป้าหมายเป็นสัปปะรดข้างทาง ที่ชาวบ้านเอามาขาย เห็นกำลังขนลงจากรถอีแต๋นเล็ก ๆ เลยแวะซื้อและสอบถามด้วยความอยากรู้ว่าพันธุ์อะไร "อ๋อ ก็พันธุ์บ้านเรานี่แหละจ้า" ได้คำตอบเลยว่ากำลังชิม สัปปะรดพันธุ์บ้านเราอยู่นะ ขับรถตามเส้นทางบนภูเรือด้วยความสบายตา สบายใจ
แตกต่างกับความหดหู่ที่พบเห็นจากช่วงภูหลวง ภูหอ ถนนยังดี ป่าข้างทางยังเขียวขจี ทิวทัศน์ข้างทางแบบนี้แหละ ที่เหมาะกับการเดินทางเพื่อการพักผ่อนจริง ๆ ขับเรื่อย ๆ สบาย ๆ ระหว่างทางเห็นรีสอร์ท กับร้านกาแฟริมทาง เรื่อย ๆ ไม่ต้องกลัวเหงา หรืออยากเติมคาเฟอีนก็ลองเลือกดูเอาซักร้านนึง ใช้ชีวิตเดินทางท่องเที่ยว อย่าคาดหวังอะไรมาก อย่าเชื่อคู่มือท่องเที่ยวไปซะหมด ถ้าเชื่อหมด จะเหลืออะไรไว้ให้ค้นหา ให้จินตนาการ กันเล่าพ่อนักเดินทางทั้งหลาย


ใช้เวลาซักชั่วโมงครึ่งก็เข้าสู่อ.ด่านซ้ายเกือบ เวลาเกือบ 10.30 น. การจราจรเริ่มติดขัด ตัดสินใจจอดรถหน้าโรงพยาบาลแล้วลงเดินทาง เป้าหมาย "วัดโพนชัย" จุดเริ่มต้นของบุญผะเหวด
แล้วบุญผะเหวด และประเพณีผีตาโขน คืออะไรล่ะ? ขอเล่าให้ฟังในฐานะคนเดินทางคนนึง อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะเป็นเพียงประสบการณ์ที่พบเห็นกับเรื่องที่ได้คุยกับผู้คนที่อยู่ในพื้นที่นะครับ


งานบุญผะเหวด เป็นงานบุญมหาชาติ ที่กล่าวถึงพระเวสสันดร ถือเป็นงานบุญหลวงของชาวอีสาน  จัดขึ้นในช่วงเดือน 7 ซึ่งไม่ได้มีแต่ที่จ.เลยนะครับ ตามภาคอีสาน หรือภาคเหนือก็มี อย่างงานบุญบั้งไฟ นั่นก็ใช่ โดยหลัก ๆ แล้วจะแบ่งออกเป็น 3 วัน วันแรก (27 มิ.ย. 57) เป็นวันโฮม แต่เช้ามืดมีพิธีเบิกพระอุปคุตต์ เพื่อนำมาร่วมบุญ วันที่สอง (28 มิ.ย. 57) เป็นวันแห่ผะเหวด วันนี้เป็นวันที่จะมีการแห่แหนขบวนของผีตาโขน ขบวนของเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่เทียม "ผีตาโขน" เป็นคำที่กลายมาจากคำว่า "ผีตามคน" ที่ได้รับอิทธิพลจากมหาเวสสันดรชาดก ที่เมื่อพระเวสสันดรและพระนางมัทรี จะเสด็จกลับจากป่าเข้าสู่เมือง เหล่าสัตว์ป่าและผีสางนางไม้ ต่างก็เศร้าใจ อาลัยในการลาจาก จึงพากันตามมาส่งเข้าสู่เมือง ซึ่งผีตาโขน จะแบ่งเป็นผีตาโขนเล็กที่เราเห็นทั่ว ๆ ไป แต่งตัวใส่หน้ากาก และผีตาโขนใหญ่ ทำจากไม้ไผ่สานทำเป็นผีใหญ่กว่าคนร่วมสองเท่า โดยเมื่อเสร็จงานแห่แหนแล้ว พอพลบค่ำ ก็จะมีการนำผีตาโขนใหญ่ไปทิ้ง เพื่อเป็นการทิ้งโชคร้าย ทิ้งความเศร้าโศก วันที่สาม (29 มิ.ย. 57) วันสุดท้าย แต่เช้ามืดจะมีการเทศน์มหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์ ที่วัดโพนชัย เพื่อเป็นกุศลศิริมงคลแก่ผู้มาร่วมงานบุญ

ผมมีโอกาสเข้าร่วมงานประเพณีนี้แค่วันเดียวคือวันแห่ผีตาโขน ความสนุกสนาน ความคิดสร้างสรรค์ ยังบวกรวมกับวัฒนธรรมเก่าดั้งเดิมได้อย่างไร้รอยต่อ ภาพผีตาโขนใหญ่ ที่แบ่งผู้ชาย ผู้หญิงชัดเจน หรือผีตาโขนน้อย จำนวนมาก สีสันหลายหลาย การเต้นรำที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของผีตาโขน การร่ายรำที่อ่อนช้อยงดงามไม่หยุดของเหล่าคนทรงเทพ ขบวนเสลี่ยงของเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่เทียม 

เต้นกันไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย
ขบวนร่ายรำตาม ขบวนแห่เจ้าพ่อกวน เจ้าแม่เทียม
 ทุกสิ่งทุกอย่างที่สัมผัส ตื่นตาตื่นใจ ชวนให้หลงใหล ไปกับชาวบ้าน ที่วัดโพนชัย จะเป็นจุดที่ขบวนผีตโขนทุกขบวนมาจบลง เหมือนเป็นการส่งพระเวสสันดรกลับสู่เมืองนั่นเอง
ภายในวัดโพนชัย ยังมีพิพิธภัณฑ์ผีตาโขน ให้เข้าไปศึกษา และหลวงพ่อใหญ่ที่สวยงานอยู่ในอุโบสถอีกด้วย

ไปร่วมงานบุญงานประเพณีเขาด้วยความกลมกลืนอยากรู้อยากเห็น ประทับใจกับงานกับผู้คนกับวัฒนธรรม ประเพณี เสียอย่างเดียวไม่มีโอกาสชิมข้าวโพดตักหงาย ที่เขาว่ากินเพลิน กินอร่อยจนลืมตัว กินเสร็จลุกขึ้น อิ่มจนหงายหลังไม่รู้ตัว ข้าโพดชื่อดังของด่านซ้ายเลยคราวนี้ แล้วก็ยังไม่ได้รู้เลยว่าพวกคนที่เอาโลนชุบตัวเดินในขบวนมีความหมายยังไง ไว้ปีหน้าฟ้าใหม่ เวลาเป็นตา โอกาสเป็นใจ ค่อยมาเยือนใหม่นะ ผีตาโขน ด่านซ้าย
มนุษย์โคลนในขบวนแห่ ยังไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร?
ขบวนแห่จากอำเภอต่างๆ เพื่อไปวัดโพนชัย
ผีตาโขนเล็ก
ผีตาโขนใหญ่ ผัว เมีย 


วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เชียงคาน.. การเดินทางก่อนจุดหมาย

ประเพณี บุญผะเหวด ที่มีขบวนผีตาโขนคอยแห่แหน งานประจำปียิ่งใหญ่ ทีอ.ด่านซ้าย จ.เลย ที่ตั้งใจว่าจะไปร่วมชมมาหลายปีแล้ว ปีนี้ก็สามารถจัดสรร จัดการตัวเองให้ไปร่วมชมงานได้ซักที สำหรับปีนี้ (พ.ศ. 2557) งานประเพณีตรงกับวันที่ 27, 28 และ 29 มิถุนายน ได้เวลาเดินทางไปชมกันแล้ว
ด้วยเวลาที่จำกัด ทำให้ต้องเดินทางในวันที่ 27 ก็ต้องยอมพลาดไปสำหรับงานวันแรก ขับรถออกจากกรุงเทพ เป้าหมาย จังหวัดเลย ไปตามทางหลวงหลักมุ่งหน้า สระบุรี เพชรบูรณ์และสุดท้ายที่ จ.เลย
วันแรกตั้งใจว่าจะลองไปเชียงคาน ระหว่างที่ขับรถช่วงหล่มเก่า-ด่านซ้าย เลยเลี้ยวขวาเข้าทล. 2016 วิ่งขึ้นเขาลงห้วยกันไป ไม่อยู่ในทางหลัก อาจพบเจอกับสิ่งที่แปลกตามากขึ้น เป็นการขับรถเกือบ 2 ชั่วโมงอยู่บนสันเขา โดยพบเจอรถยนต์คันอื่น ๆ ไม่ถึง 10 คัน ได้เจออุโมงค์ต้นไม้สวยๆ

ได้เห็นภูหลวง และภูหอเต็ม ๆ ตา แต่ในความงามก็ย่อมมีบาดแผล เพราะระหว่างทางพบเจอแต่ภูเขาหัวโล้น ป่าที่โดนโค่นทำลายเพื่อการใด ๆ ไม่ทราบ และได้ประโยชน์ จริงหรือไม่ก็ไม่รู้ ซึ่งสร้างความหดหู่ เศร้าใจ กับความสูญเสียที่พบเห็น

เมื่อเข้าเมืองเลย ก็เลยไปเชียงคาน เมืองริมโขงสุดฮิต ที่ใคร ๆ ก็อยากมา แต่เมื่อได้มาสัมผัสก็พบว่าเชียงคาน กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและถนนคนเดินธรรมดาไปแล้ว มีเสื้อผ้าเหมือน ๆ กัน ขายอยู่ทั่วไป สินค้าที่หาซื้อได้เกือบทุกที่ทั่วประเทศ

"คนเขาไม่สนใจจะส่งไปรษณีย์กันแล้วพี่ ก็ซบเซาลงหน่อย"
คำพูดจากพ่อค้าโปสเตอร์ทำมือบอก ร้านของเขาตั้งวางสินค้าไว้บนจักรยานเก่า ๆ ขายโปสการ์ดที่ทำจากรูปถ่ายของตัวเองและเพื่อน ๆ ที่บันทึกไว้ในจังหวัดเลย นำมาขายที่เชียงคาน ริมโขงนี่ ที่แปลกสำหรับผมก็คือ โปสการ์ดไม้ที่ทำเป็นภาพพิมพ์ไม้และใช้ส่งไปรษณีย์ได้จริง สวยและไอเดียดี นอกจากนี้ก็ได้ลองกินกุ้งแม่โขงปิ้ง ตัวเล็ก ๆ เค็ม ๆ อร่อยดีเหมือนกัน ไม้ละ 10 บาท "กินได้ทั้งเปลือกเลยจ้า ยายไปรับกุ้งมาปิ้งเอง" คุณยายที่นั่งขายอยู่บอกมา ผมได้เดินชมบ้านเก่าเมืองแก่ ที่ว่ากันว่าสวยงาม ซึ่งตอนนี้ส่วนใหญ่ก็กลายเป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวกันไปหมดแล้ว อาหารการกินที่เหมือนจะเปลี่ยนรสชาดไปตามคนที่มาเยี่ยมชม

ถนนคนเดินสำหรับเชียงคาน อาคารเก่า สวย ความหลากหลายของอาหารถิ่น สินค้าทำมือ ของพื้นเมืองจากชาวบ้าน ในความรู้สึกผม ยังสู้ กาดกองต้า ที่ จ.ลำปางไม่ได้เลย

กลับจากเชียงคานเข้าสู่ที่พักแถวถ้าผาปู่ นอนมองดาวในวันฟ้าใส พลางคิดไปว่านานเท่าไหร่แล้วที่ไม่ได้มองดาวบนฟ้าชัด ๆ แบบนี้

ผมอาจไม่มีเวลามองหา ศึกษาเชียงคานนานนัก เพียงอยากจะบอกว่า หากไม่มีอัตลักษณ์ของท้องถิ่น หรือสถานที่นั้น ๆ วันนึงข้างหน้า อาจไม่มีเชียงคานที่สวยงามและสงบให้คนไปเยี่ยมชมอีกต่อไป
ว่าจะเขียนเรื่องผีตาโขน กลายมาเป็นเชียงคานได้ยังไงไม่รู้

เพราะภาพที่ได้รับ สิ่งที่ได้สัมผัส กับเรื่องที่ได้ยินมา เนื้อหาที่เคยอ่าน มันช่างแตกต่างกันเกินไป
หรือเพราะตัวผมเองยังไม่เปิดตา เปิดใจค้นหา ใช้เวลากับเชียงคานให้มากกว่านี้กันแน่
ไว้ค่อยมาเล่าเรื่องผีตาโขนกับความประทับใจให้ฟังอีกที

วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ฝัน

ปี 2556 ช่วงเวลาที่เพิ่งฟื้นตัวได้หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ เป็นปีที่ต้องผ่านอะไรมามากมาย ดีใจ เสียใจ เจ็บปวด สูญเสีย เปลี่ยนผ่าน หลายสิ่งหลายอย่างผ่านเข้ามาในชีวิต
ต้นปีนั้น ผมได้มีโอกาสรู้จักกับนิตยสารรูปแบบใหม่เล่มหนึ่งซึ่งแค่ชื่อก็โดนใจผมแล้ว นิตยสาร “หนีกรุง ไปปรุงฝัน” หลังจากนั้นก็ได้ติดตาม ได้สัมผัส ได้รับรู้ข้อมูลต่าง ๆ จากนิตยสารท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ฉบับนี้ สำหรับคนที่อ่านหนังสือเรียงหน้าไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้ายแบบผม มันทำให้รู้สึกสนุก และสามารถนั่งอ่านได้เรื่อย ๆ น่าเสียดายที่ไม่มีโอกาสได้รู้จักกันมาก่อนหน้านี้ เพราะมารู้ตอนหลังว่าเคยเป็น Free Copy แจกให้อ่านฟรี ๆ มาก่อน เมื่อได้มาสัมผัส รวมทั้งได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมของทางหนีกรุง ก็ยิ่งชอบ ยิ่งรักจนสมัครสมาชิกต่อมาเป็นปีที่สอง ผมเคยเป็นสมาชิกนิตยสารหลายเล่ม เล่มนึงที่ยืนยงมายาวนานก็ National Geographic Thailand ที่เป็นมาตั้งแต่เล่มแรก

ส่วนหนีกรุง ก็น่าจะเป็นสมาชิกกันไปอีกนานเหมือนกัน
คำถามว่าเพราะอะไร คงตอบได้ยาก เช่นเดียวกับคนที่รู้จักผมมักบอกว่าผมเป็นคนที่เข้าถึงยาก แต่คบได้ง่าย
ผมคิดว่าหนีกรุงเป็นนิตยสารที่จริงใจ จริงใจกับความคิด ความฝันของตัวเอง จริงใจกับการนำเสนอและการทำงาน รวมไปถึง จากการที่ผมถ่ายภาพมายาวนานตั้งแต่สมัยฟิล์ม จนมาชะลอตัวลงในยุคดิจิตอล สิ่งหนึ่งที่ผมเป็นคือ ภาพทุกภาพที่ถ่ายออกมา ย่อมสวยงามเสมอ อันเป็นเหตุให้ผมมีความเห็นที่แตกต่างจากตากล้องส่วนใหญ่ที่ผมรู้จัก เป็นเหตุให้ผมไม่ไปออกทริปถ่ายภาพกับใครทั้งนั้น ไปที่ไหนก็ไปคนเดียว ในคอลัมม์ “อารมณ์เหนือคมชัด” ในหนีกรุงก็ช่วยบอกได้ว่า คนที่คิดแบบผมไม่ได้มีแค่คนเดียว ทำให้มีความรู้สึกว่ามีเพื่อนที่เข้าใจกันได้ดีอยู่ด้วย โดยไม่ต้องพูดคุยกัน เมื่อปีก่อน ยังมีคอลัมม์ “เจ้าถิ่น” ที่นำเรื่องราวของหมาจากที่ต่าง ๆ ที่ไปพบมา นำเรื่องราวของมันมาให้รู้จัก คอลัมม์นี้ปิดตัวไปแล้ว ยังคิดถึงคอลัมม์นี้อยู่นะ ทำให้เวลาไปไหนมาไหน เลยทำมันซะเอง ถ่ายรูปมันเอง เล่นเอง เขียนเอง อ่านเอง สนุกกันไป

 วันนี้หลังจากที่ไม่ได้เขียนเรื่องราวต่าง ๆ มาเป็นปี ๆ คอลัมม์ “เสี้ยวแห่งค่ำคืน” เรื่องหน่วยของความฝัน ที่เขียนโดยเฒ่าแสวงสุข ก็ทำให้ผมน้ำตาจะไหล ไม่ใช่เพราะเศร้า แต่เพราะย้อนกลับมาคิดถึงตัวเอง ว่าคนที่เป็นอย่างเรา ยังมีอยู่อีกมาก แสดงว่าเรายังมีเพื่อน และมีโอกาสที่จะเจอ เมื่อวัน เวลา และโชคชะตา เดินทางมาบรรจบกันพอดี ทำให้ผมหันกลับมาเขียนเรื่องราวใหม่ ๆ อีกครั้ง และจะพยายามรักษาความรู้สึกนี้ไว้นาน ๆ เพื่อให้ฝันเติมเชื้อไฟให้ใจทำตามที่ฝัน


ผมมีความฝัน ทุกคนมีความฝัน ผมพยายามทำตามความฝันเกือบทุกเรื่อง ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ยังอยู่ในสมองบ้าง ยังอยู่ในจิตใจบ้าง ยังคงพยายามทำต่อไป ฝันพันเป็นจริงได้สิบ ก็คุ้มค่าที่จะฝันแล้ว

 ขอบคุณ หนีกรุง ไปปรุงฝัน ที่ย้อนกลับมาย้ำว่า ฝันไปเถอะ คนเรามีความฝันเป็นความหวังและแรงผลักดันเสมอ และบอกว่าเราไม่ได้เป็นอย่างนี้อยู่คนเดียวในโลกหรอก ยังมีเพื่อนที่เหมือน ๆ กันอยู่เสมอ