วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เด็กดื้อ

เพิ่งอ่านเรื่อง "วาสิฏฐี" ที่เรียบเรียงโดยเสถียรโกเศศ และ นาคะประทีป จบ
เพื่อตอบคำถามตัวเองที่ว่า ทำไมจึงมีคำพูดที่ว่า "รวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม"
หนังสือเล่มที่เอามาอ่านเป็นหนังสือที่เคยเป็นแบบเรียนวรรณคดีไทย ชั้น ม.3 เมื่อ 30 ปีก่อน
สมัยผมเรียน ม.3 ก็ไม่ได้เรียนแล้วนะ

ก่อนจะอ่านคิดว่าเรื่องของกามนิตและวาสิฏฐี เป็นแค่นิยามรัก ๆ ใคร่ ๆ ทั่วไป
พออ่านเล่มนี้แล้วถึงรู้ว่าเป็นเรื่องที่มีคติธรรมอยู่เต็มไปหมด ส่วนที่เป็นเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ มีอยู่น้อยเดียวเอง

โดยทั่ว ๆ ไปหนังสือเล่มนี้แสดงภาพความเป็นอยู่ของผู้คนที่ร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้าได้เป็นอย่างดีนะ
เพียงแต่ผมไม่รู้ว่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องแค่ไหน เพราะมีการแปลจากต้นฉบับไปเป็นภาษาเยอรมัน แล้วแปลจากเยอรมันเป็นภาษาอังกฤษ แล้วท่านเสถียรโกเศศ และ ท่านนาคะประทีป ก็แปลมาเป็นภาษาไทยอีกที

ในหนังสือบรรยยถึงการเดินทางไปค้าขายต่างเมือง ระบบวรรณะ ความเป็นอยู่ของชนชั้นสูง อย่างวรรณะพราหมณ์, กษัตริย์ และแพศย์ แต่ไม่ได้กล่าวถึงวรรณะที่ต่ำที่สุดคือจัณฑาล ความเชื่อเกี่ยวกับแม่น้ำคงคา นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับองคุลิมาล, พระสารีบุตร, พระอานนท์ และพระพุทธเจ้าสมณโคดมศากยบุตร ซึ่งก็ทำให้เกิดความรู้กับผมเองเพิ่มขึ้นอีกมาก ใครที่ไม่เคยอ่านก็ลองหามาอ่านดูนะครับ

หลังจากที่อ่านจนจบ และทำความเข้าใจได้พักหนึ่ง ก็เลยพอจะเข้าใจได้ว่าคำว่า "รวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม" น่าจะมาจากการกระทำของตัวกามนิตเอง เมื่อผิดหวังจากการที่ไปเห็นวาสิฏฐีกำลังเข้าพิธีแต่งงานกับสาตาเคียรบุตร แล้วกลับมายังบ้านเมืองตนเองตั้งหน้าตั้งตาค้าขายจนร่ำรวยมหาศาล
แล้วเกิดนิสัยด่วนได้ อยากได้อะไรก็หาซื้อมาในทันที ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกินหรือสิ่งของ รวมไปทั้งเมื่อพ่อหาผู้หญิงมาให้เพื่อแต่งงานก็ยังจัดทันทีอีก คงจะสามารถถือเอาการกระทำแบบนี้เป็นที่มาของคำว่า "รวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม" ได้ละมั้ง

นอกจากนี้ยังมีเรื่องคำสอนที่น่าประทับใจที่พระพุทธเจ้าแสดงให้กับกามนิต ตอนที่กามนิตออกจาริกแสวงบุญ และต้องการจะเดินทางไปพบพระพุทธเจ้าเพราะได้ยินมาว่าเป็นผู้รู้แจ้ง น่าจะให้คำตอบแก่การจาริกของตนได้ แล้วบังเอิญไปพักอยู่ที่เดียวกับพระพุทธเจ้าที่บ้านของช่างปั้นหม้อในคืนหนึ่ง แล้วเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าเป็นสาวกรูปหนึ่งของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ตัวพระพุทธเจ้าเอง กามนิตจึงพยายามถามเกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าการแสวงหาที่สิ้นสุดคือความสุขใช่ไหม

แต่โดยคำสอนของพุทธนั้นคือการแสวงหาความหลุดพ้น ไม่ใช่หาความสุข รวมไปถึงการที่กามนิต นั่งคุยและฟังการแสดงธรรมจากพระพุทธเจ้า แต่ยังไม่เข้าใจ ไม่เชื่อ และคิดว่าต้องฟังจากปากของพระพุทธเจ้าเอง จนพาตัวเองไปพบจุดจบในที่สุด เรื่องที่พระพุทธเจ้ายกตัวอย่างมาเพื่อสอนให้กามนิต

รู้เรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่เขาแสวงหาคือเรื่องของเด็กดื้อ ซึ่งผมขอเล่าสั้น ๆ แบบสรุปใจความก็แล้วกัน
เรื่องก็คือ

เด็กคนหนึ่งเป็นทุกข์จากอาการปวดฟัน แล้วไปหาหมอ หมอก็ว่าต้องถอนออกเท่านั้น ความเจ็บปวดก็จะหายไป แต่เด็กไม่ยอมและแย้งว่าในเมื่อตนพบความทุกข์จากความเจ็บปวดแล้ว จึงอยากได้ความสุขเพื่อหยุดความทุกข์ที่กำลังเกิดอยู่นี่ ว่าแล้วเด็กคนนั้นก็ไปหาคนเล่นกล ซึ่งรับปากว่าเขาสามารถให้ความสุขแล้วทำให้ความเจ็บปวดหายไปได้ เมื่อเก็บเงินเด็กไปแล้ว เขาก็ทำให้เด็กเพลินมีความสุข จนลืมความเจ็บปวด แต่ไม่นานก็เกิดอาการเจ็บปวดขึ้นมาอีก

และในขณะที่ผู้ใหญ่อีกคนหนึ่งมีอาการปวดฟันเหมือนกัน เมื่อไปหาหมอตรวจก็เสนอทางแก้ และชายผู้นั้นก็ทำ ความเจ็บปวดก็หายไปอย่างสิ้นเชิง

อันนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการดับทุกข์ นะครับ เมื่อเกิดทุกข์ ก็ให้ดับที่เหตุ ถ้าปวดฟัน ถอนออกก็หายปวด แต่หากยังดื้อดึงหาวิธีอื่น ๆ มาเพิ่มความสุขให้ตัวเอง โดยไม่ดับทุกข์ที่ต้นเหตุ ความทุกข์ก็จะยังวนเวียนกลับมาหาเราเสมอ เหมือนกับเด็กดื้อคนนั้น

ผมเคยบอกแล้วว่าผมในตอนนี้เป็นคนที่มีความสุข อาจเป็นเพราะผมหาทางดับทุกข์บางอย่างที่ต้นเหตุไปได้บ้าง แต่ยังไงผมก็ยังเป็น "เด็กดื้อ" ในหลาย ๆ เรื่องอยู่ดี เพียงแต่คงจะน้อยเรื่อง เลยรู้สึกว่ามีความสุขมากกว่ามั้ง

แล้วพวกคุณละเป็น "เด็กดื้อ" กันมากแค่ไหน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น