วันจันทร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2553

อย่าได้เชื่อถือ โดยเหตุสักว่า (6-10)

ถ้าผมบอกพวกคุณว่า บ้านนกในภาพนี้ ไม่มีนกอยู่ คุณจะเชื่อไหม หรือถ้าผมบอกว่าในบ้านนกนี้ มีนกอยู่ละ คุณจะเชื่อไหม หรือผมบอกว่าไม่มีนกหรอก มีแต่หนูมาอยู่ มีงูมาอยู่ มีค้างคาวมาอยู่ คุณจะเชื่อแบบไหน? หรือเลือกที่จะเชื่อตามความคิดของพวกคุณเอง หรือเลือกที่จะเชื่อ โดยการพิจารณา ความจริงและเหตุผลก่อน แล้วจึงเลือกที่จะเชื่อ

วันนี้มาคุยในเรื่องของกาลามะสูตร ให้จบแล้วกันนะ เหลืออีก 5 ข้อแค่นั้นเอง

อย่าได้เชื่อถือ โดยการคาดคะเนของตนเอง
ข้อนี้เกี่ยวเนื่องมาจากข้อที่แล้ว ที่ว่าอย่าในเชื่อในการเดาของตัวเอง
ซึ่งในข้อนี้ง่าย ๆ ก็คืออย่าคิดเอาว่าสิ่งที่เราคาดเอาไว้ว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้มันจะต้องเป็นจริง ๆ โดยที่ยังไม่ได้พิจารณาด้วยหลักความจริง และหาเหตุผลต่าง ๆ มาประกอบ
อย่างช่วงเดือนก่อน มีคนถามผมว่า เหตุการณ์อย่างในหนังเรื่อง 2012 จะเกิดขึ้นจริง ๆ ไหม?
ผมก็ตอบไปว่า ก็มีโอกาสที่จะเป็นจริงได้นะ แต่ไม่รู้ว่าปีไหน เพราะเหตุการณ์และสถานการณ์หลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะ วิกฤตโลกร้อน ย่อมสามารถทำให้เกิดความผิดปกติ
ของธรรมชาติอย่างร้ายแรงได้ คนถามก็ย้อนกลับมาว่า แต่ปฎิทิน ของชนเผ่ามายา จบแค่ปี 2012 นะ เพราะฉะนั้น น่าจะเป็นเรื่องจริง
ผมเลยถามกลับไปว่า แล้วเคยเห็นปฎิทินที่ว่านั่นเหรอ แล้วถ้าเห็นจะอ่านเข้าใจเหรอ แล้วเรามั่นใจได้อย่างไร ว่านักโบราณคดีที่วิเคราะห์ภาษาของชนเผ่าโบราณ
จะแปลได้อย่างถูกต้อง ตามความหมายเดียวกับชนเผ่านั้น ๆ ตอนที่เขาจัดทำขึ้นมา....
คนเราไม่ควรจะเอาความคาดคะเนของเรามาเป็นหลักในการดำรงชีวิต หรือเชื่อมันมากจนเกินไป ผมอยากจะหมายถึงว่า อย่าเชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไปนะ
ข้อต่อมา อย่าได้เชื่อถือ โดยการคิดตามเหตุผลส่วนตัวของตัวเอง
ตรงตามความหมายเลยนะครับ เมื่อทุกคนมีความคิดของตนเอง ย่อมทำให้สังคมหนึ่ง ๆ มีหลากหลายความคิด ทุกคนมีเหตุผลของตนเองทั้งสิ้น
และหากทุกคนยึดมั่น ยึดถือกับความคิดของตนเองเป็นหลัก โดยเชื่อว่าเป็นความจริง ย่อมทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในสังคม และนำมาซึ่งความวุ่นวาย
และรุนแรง ดังนั้น การที่เราจะเชื่อความคิดของตัวเองนั่น ย่อมต้องพิจารณาจะเหตุผลหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้เห็นจริงอย่างถ่องแท้ และเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
สังคมจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่อจำกัดแนวความคิดที่อาจสร้างความแตกแยกได้ เพราะกฎหมายย่อมกลั่นกรองออกมาเพื่อให้ทุกคนในสังคม อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
หากคนเราเอาเหตุผลตัวเองขึ้นมาเป็นใหญ่ โดยเชื่อว่ถูกต้องกว่ากฎหมาย ย่อมทำให้สังคมวุ่นวายอย่างมากแน่นอน
ซึ่งในข้อนี้ก็เกี่ยวเนื่องกับข้อต่อไปอย่างชัดเจน
อย่าได้เชื่อถือโดยเหตุสักว่า มันเข้ากันได้กับความเชื่อของตน หรือมีอยู่ประจำใจ
เพราะเรามีความคิดเห็นส่วนตัว และความเชื่อบางอย่างอยู่แล้วจึงมักตกเป็นเครื่องมือของผู้ที่ฉลาดกว่า ซึ่งอาจจะรู้ถึงความเชื่อความศรัทธาของเรา
อันเป็นเหตุให้ถูกชักจูงไปในทิศทางที่เขาต้องการได้ง่าย หากเขาชักนำไปสู่ทิศทางที่ดีก็ดีไป แต่ถ้าหากชักนำไปสู่ทิศทางที่เลวร้าย เราก็จะยังคงทำตาม
ด้วยความมืดบอดทางด้านเหตุผล อันเกิดจากความเชื่อที่เป็นฐานอยู่ในจิตใจของเราอยู่แล้ว
ดังนั้น ต่อให้เรามีความเชื่อหรือคติประจำใจอย่างไรก็ตาม ย่อมต้องพิจารณาอยู่เสมอ ตามหลักการและเหตุผลที่เกี่ยวเนื่อง ในหลาย ๆ ด้าน เพื่อที่จะทำอะไรก็ตาม
แล้วไม่ขัดต่อกฎหมาย ศีลธรรม จริยธรรม รวมทั้งความเชื่อของเราเอง
น่าแปลกที่ว่าเมื่อพิจารณาต่อไปยังข้อถัดไปแล้ว จะเห็นว่ามันเกี่ยวเนื่องกันต่อไป
อย่าได้เชื่อถือ โดยเหตุสักว่าผู้พูดหรือผู้สอนนั้นอยู่ในฐานะที่พอเชื่อถือได้
เพราะหากเราต้องกระทำตามคำพูดของคนที่เรานับถือ โดยไม่พิจารณา ก็อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อตัวเอง และประเทศชาติ บ้านเมืองได้..
รวมทั้งในข้อสุดท้าย
อย่าได้เชื่อถือ โดยเหตุสักว่าผู้กล่าวสอนนั้นเป็นครูบาอาจารย์ของเรา
เพราะหากเราหลับหูหลับตาเชื่อในทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกสอนแล้วนั้น ย่อมทำให้เราไม่สามารถที่จะคิดเองได้ อันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
ไม่ว่าเราจะถูกสอนยังไงก็ตาม ย่อมต้องพิจารณาด้วยปัญญาของเราเองก่อนเสมอ ก่อนที่จะปฏิบัติและเชื่อถือในคำสอนนั้น ๆ
เมื่อพิจาณาจากกาลามะสูตรทั้ง 10 ข้อนี้
จะเห็นความเชื่อมโยงเดียวกัน ที่พระพุทธเจ้า พยายามจะสอนผู้คนทั้งหลาย นั่นก็คือ
อย่าได้เชื่อถือในสิ่งต่าง ๆ ก่อนที่จะพิจารณากันอย่างถ้วนถี่ ว่าเป็นจริง ตามหลักการและเหตุผลจากหลาย ๆ ด้าน ประกอบกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน
รวมทั้งต้องคิดและพิจารษา โดยปราศจากอคติ ซึ่งเป็นเหมือนสิ่งที่บังตา บังใจเราอยู่เสมอ เวลาที่เราต้องคิดต้องพิจารณาสิ่งใด ๆ ก็ตาม
อยากขอให้ทุก ๆ ท่านพยายามใช้หลักความคิดในกาลามะสูตรนี้เป็นหลักในการคิดพิจารณา ในการดำเนินชีวิต หากรวมกับเรื่องศีลธรรม จรรยา
เข้าไปด้วย โลกนี้คงมีความสุข ปราศจากความแตกแยก อันเกิดจากความไม่รู้ และถูกชักจูงได้ง่าย ๆ โดยผู้เสียประโยชฯื และผู้ต้องการรักษาอำนาจ

เราควรตั้งตนให้อยู่ในความจริง เปิดตา เปิดใจรับฟัง ทุก ๆ ด้าน เพื่อความถูกต้องชัดเจนอย่างที่สุด แล้วจึงสรุปว่า เราควรจะเป็นอะไร เป็นใคร เพื่ออะไร เพื่อใคร
อย่าเชื่ออะไรง่าย ๆ มีสติ พิจารณา จากเหตุผลและความเป็นจริง หลาย ๆ ด้าน โดยไร้อคติ คุณจะพบความจริงที่จริงแท้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น