วันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ทานขันดอก วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่

ช่วงนี้สถานการณ์บ้านเมืองไม่ค่อยดีนะครับ
หากจะเปรียบเทียบเหตุการณ์ครั้งนี้ กับครั้งก่อน ๆ ในเรื่องสถิติต่าง ๆ
อย่าลืมคำนวณเรื่องที่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผู้ประท้วงมีอาวุธสงครามด้วยนะครับ

เมื่อสัปดาห์ก่อนไปทำงานอยู่ที่เชียงใหม่ มีพี่ ๆ ไปด้วย พอเลิกงานก็พาไปเที่ยววัดพระสิงห์ วัดอุปคุต
แล้วยังโชคดีที่เป็นช่วงที่มีประเพณี "ทานขันดอก" ที่วัดเจดีย์หลวงด้วย เป็นงานที่ไปทำบุญด้วยดอกไม้ ธูปเทียน ในช่วงกลางคืน มีผู้คนไปร่วมงานกันอย่างล้นหลาม พี่ที่ผมพาไปก็ประทับใจมาก
การทานขันดอกนี้เป็นประเพณีที่ชาวบ้านจะไปทำบุญเสาอินทขีล อืม.. ก็เสาหลักเมืองของเชียงใหม่นั่นแหละ ซึ่งตั้งอยู่ในวัดหลวง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์องค์ที่ 8 ของ ราชวงศ์มังราย แล้วชาวเชียงใหม่ก็เชื่อว่า ถ้าบูชาเสาอินทขีลแล้ว บ้านเมืองจะพ้นภัย และ เจริญรุ่งเรือง งานจะมีช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนะครับ
ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ถ้าอยากรู้มากกว่านี้ ก็คงต้องไปหาอ่านเอาละกัน ข้อมูลและหนังสือมีมากมายครับ

แม้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสไปงานทานขันดอก ก็ยังสามารถทำให้ผมประทับใจเช่นเดิม
พ่อแก่แม่เฒ่า หนุ่มสาว วัยรุ่น ที่อาศัยในเชียงใหม่ มาร่วมทำบุญกันอย่างล้นหลาม แล้วยังมีนักท่องเที่ยวอีก คนที่ไปร่วมงานจึงมากมายมหาศาล
ขอฝากนักท่องเที่ยวนะครับ เวลาที่จะไปร่วมประเพณีอะไร ก็ศึกษากันก่อนซักนิดนึง
จะได้ไม่หงุดหงิด แล้วก็ ทำอะไร ๆ ไม่ขัดกับชาวบ้านในท้องที่เขานะครับ อย่างการเอาเทียนไปปักที่พื้นบันไดก่อนขึ้นสรงน้ำ พระเจ้าฝนแสนห่า
ก็พวกคุณเล่นมักง่ายอย่างนี้ คนที่เขาจะขึ้นไปบูชา สรงน้ำ เลยเหลือทางเดินแค่นิดเดียวเองนะครับ ยังไม่นับเรื่องอื่น ๆ นะ
แต่สังเกตได้นะว่าคนที่นี่เขาไม่ได้แสดงความหงุดหงิด แล้วยังมีน้ำใจตลอดเวลา อย่างตอนที่ทานขันดอกอยู่ในโบสถ์ ข้าวตอกผมหมด ผู้หญิงที่อยู่ข้างหน้าก็หันมาแบ่งให้
โดยที่ไม่ได้ขอนะครับ เธอบอกว่าต้องใส่ให้ครบ แล้วยังแนะนำสิ่งต่าง ๆ ที่ควรรู้อีกด้วย นี่แหละครับพื้นฐานนิสัยจริง ๆของคนไทย อย่าให้ใครเขามาชักจูงให้พวกเราหลงลืมตัวตนของเรานะครับ
แล้วฝากผู้ช่วยจัดงานหน่อยนึง ไหน ๆ งานนี้ก็เป็นงานของล้านนาแล้ว ไหงมีการแสดงรำแบบภาคกลาง อย่างฉุยฉาย อยู่บนเวทีละ?
ผมคิดว่าใช้ทุกอย่างที่เป็นล้านนา น่าจะเป็นการบ่งบอกตัวตนได้ดีกว่านะครับ แม้ว่าการแสดงของภาคอื่น ๆ จะหมายถึงการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
แต่ประเพณีนี้ งานนี้ เป็นงานเฉพาะถิ่นนะ ผมว่าควรแสดงตัวตนของล้านนาเป็นหลักไปเลยนะครับ

ผมไปร่วมงานนี้ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ชอบประเพณีวัฒนธรรม โอกาสดีที่มาในช่วงที่มีงานพอดี พาพี่ ๆ พาเพื่อน พาน้อง  ไปร่วมงานบุญที่เขาไม่เคยเจอมาก่อน
คนต่างถิ่นย่อมตื่นตาตื่นใจเมื่อได้มาเห็น ซึ่งในสิบกว่าปีที่ผมเดินทางมา ภาคเหนือยังมีงานที่คนพื้นที่เดิมให้ความสำคัญและมาร่วมงานกันมาก
แล้วยังสามารถเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานได้ด้วย ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งคงวัฒนธรรรมประเพณี และได้เรื่องการท่องเที่ยวด้วย ทางภาคเหนือนี้เป็นมาตลอด
ในขณะที่ภาคอื่น ๆ กลายเป็นการเน้นที่การท่องเที่ยวไปแล้ว ประเพณีและวัฒนธรรมเดิมเริ่มเปลี่ยนไป ผู้คนในท้องถิ่นเริ่มไม่ได้มาร่วมงานด้วยใจ และมาเพื่อการท่องเที่ยว และขายของ
ไม่รู้ว่าใครผิดกว่ากัน การท่องเที่ยว ที่พยายามนำจุดเด่นของแต่ละท้องถิ่นมาขายในเชิงการท่องเที่ยว หรือวัฒนธรรมบูชาเงินทอง มากกว่าจิตใจ ที่กำลังกลืนกินผู้คนในบ้านเมืองเรา
ให้กลายเป็นเหมือนคนตะวันตก...

การที่ได้ไปร่วมงานทานขันดอก การไปเยี่ยมชม วัดพระสิงห์ วัดอุปคุต เป็นการเติมเชื้อไฟ เติมกำลังใจให้ผมเป็นอย่างดี
ประเพณี วัฒนธรรม ของบ้านเรางดงามมากนะครับ ออกจากบ้านแล้วมาร่วมงานต่าง ๆ
ศึกษาชีวิต และวัฒนธรรม จะได้ภูมิใจว่า เราเป็นคนไทย และคนไทยเป็นอย่างไร..

เมื่อเห็นคนมากมายมาร่วมงานปอย หรืองานบุญ แล้วยังเป็นคนในท้องถิ่น ทำให้เกิดกำลังใจ ว่าบ้านเรายังมีความหวังเสมอครับ
อย่าลืมตัวตน พื้นฐานนิสัย และจิตใจของเรา อย่าให้ใครชักจูงไปจนไม่ใช่ตัวเอง
ทุกสิ่งทุกอย่างยังมีความหวังเสมอ หากวันนี้ท้อแท้สิ้นหวัง พรุ่งนี้เริ่มใหม่ก็ได้นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น